สงครามร้อยปี (สงครามอังกฤษ-ฝรั่งเศส)
ภาพที่ 1 ภาพวาดสงครามร้อยปี |
สงครามร้อยปี เป็นสงครามระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส โดยเหตุการณ์นี้อยู่ในช่วงเวลาระหว่าง ค.ศ. 1337-1453 ซึ่งมีระยะเวลาทั้งหมด 116 ปี เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้รูปแบบการเมืองและสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง จากความขัดแย้งระหว่างบุคคลหรือแคว้นมาเป็นความขัดแย้งระหว่างชาติ นอกจากนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่
สาเหตุของสงคราม
1. ความขัดแย้งเรื่องดินแดนระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส นับตั้งแต่วิลเลียม ดุ๊ก แห่งแคว้นนอร์มองดี ซึ่งเป็นข้าติดที่ดินของกษัตริย์ฝรั่งเศสได้เข้ายึดครองและสถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษใน ค.ศ. 1066 นับตั้งแต่นั้นมากษัตริย์อังกฤษก็มีที่ดินในพื้นที่ของประเทศฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก แต่กษัตริย์ฝรั่งเศสก็ยังคงพยายามช่วงชิงดินแดนดังกล่าวกลับคืนมาจากกษัตริย์อังกฤษ ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 อังกฤษก็มีดินแดนเพียงไม่กี่แห่งในพื้นที่ของประเทศฝรั่งเศส
2. สิทธิในราชบัลลังก์ฝรั่งเศส พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 (Edward III ค.ศ. 1327-1377) กษัตริย์อังกฤษส่งอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของฝรั่งเศส เนื่องจากพระองค์มีพระราชมารดาเป็นเจ้าหญิงฝรั่งเศส แต่ขุนนางฝรั่งเศสกับเลือกพระเจ้าฟิลิปที่ 6 (Philip VI ค.ศ. 1328-1350) เป็นกษัตริย์ฝรั่งเศส
3. อังกฤษต้องการผนวกสกอตแลนด์ แต่สกอตแลนด์ได้รับการสนับสนุนจากฝรั่งเศสให้ต่อต้านอังกฤษ ทำให้อังกฤษไม่พอใจฝรั่งเศส
4. ในด้านเศรษฐกิจ ฝรั่งเศสได้พยายามขัดขวางความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างอังกฤษกับแคว้นฟลานเดอร์ (ประเทศเบลเยี่ยมในปัจจุบัน) และฝรั่งเศสได้พยายามขัดขวางอังกฤษในการเข้ายึดครองแคว้นกาสโกนีเพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการค้า
5. สาเหตุจากภายในประเทศ เนื่องจากกษัตริย์ทั้งสองประเทศกำลังประสบปัญหาการขยายอำนาจของขุนนาง จึงต้องการใช้สงครามระหว่างประเทศดึงความสนใจของขุนนางและประชาชน
ภาพที่ 2 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ (ค.ศ. 1327-1377) ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/King_Edward_III_(retouched).jpg |
ภาพที่ 3 พระเจ้าฟิลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส (ค.ศ. 1328-1350) ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/Robert-Fleury_-_Philip_VI_of_France.jpg |
สถานการณ์ของสงคราม
ในช่วงระยะเวลาสงครามร้อยปี อังกฤษและฝรั่งเศสได้ทำสงครามกันเป็นระยะๆ โดยอังกฤษเป็นฝ่ายโจมตีฝรั่งเศส กองทัพฝรั่งเศสพยายามต่อต้าน แต่ก็ทำอังกฤษก็สามารถเอาชนะกองทัพฝรั่งเศสได้ ทำให้ฝรั่งเศสต้องทำสัญญาสันติภาพกับอังกฤษใน ค.ศ. 1358 โดยอังกฤษได้ครอบครองดินแดนในฝรั่งเศสหลายแห่งด้วยกัน และยังได้รับเงินค่าไถ่องค์พระเจ้าจอห์นที่ 2 (John II ค.ศ. 1305-1364) กษัตริย์ฝรั่งเศสที่ถูกจับตัวเป็นเชลยศึกด้วย ในขณะเดียวกันอังกฤษก็ยอมยกเลิกการอ้างสิทธิในตำแหน่งกษัตริย์ฝรั่งเศส หลังจากสงครามทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสก็ต่างต้องเผชิญกับปัญหาโรคระบาดและความไม่สงบภายในประเทศ ดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษในประเทศฝรั่งเศสได้ทำการต่อต้านอังกฤษ พร้อมกับขอให้ฝรั่งเศสมาเกี่ยวข้องด้วย สงครามได้เริ่มขึ้นใน ค.ศ. 1370 ในสมัยพระเจ้าชาลส์ที่ 5 (Charles V ค.ศ. 1364-1380) สงครามระยะนี้กองทัพฝรั่งเศสได้เปรียบในการรบ จนในที่สุดอังกฤษก็เหลือดินแดนในประเทศฝรั่งเศสเพียงเล็กน้อย หลังสงครามสงบ ฝรั่งเศสต้องเผชิญปัญหาความขัดแย้งภายในระหว่างฝ่ายต่อต้านอังกฤษกับฝ่ายนิยมอังกฤษ ในที่สุดฝ่ายนิยมอังกฤษก็เป็นฝ่ายชนะ ทำให้ประเทศสงบศึกกันนานกว่า 2 ทศวรรษ แต่อังกฤษก็ยังคงแทรกแซงทางการเมืองในประเทศฝรั่งเศสและเกิดสงครามขึ้นเป็นระยะๆ กองทัพอังกฤษรุกรานฝรั่งเศส แต่กองทัพฝรั่งเศสก็มีวีรสตรีโจนออฟอาร์ค (Joan of Arc) เป็นผู้นำทัพ จึงสามารถเอาชนะกองทัพอังกฤษได้ที่เมืองออร์เออง (Orleans ค.ศ. 1429) และเอาชนะอังกฤษได้ในหลายครั้ง ในปีต่อมา โจนถูกจับตัวโดยฝ่ายสนับสนุนอังกฤษ ถูกดำเนินคดีในศาลศาสนา และถูกเผาทั้งเป็นในค.ศ. 1430 วีรกรรมของโจนได้ก่อให้เกิดความคิดเรื่องชาตินิยมในหมู่ชาวฝรั่งเศสอย่างรุนแรง
หลังจากนั้นกองทัพฝรั่งเศสได้ทำการยึดดินแดนกลับคืนจากอังกฤษได้เป็นจำนวนมาก จนกระทั่งสงครามยุติลงในค.ศ. 1453
ภาพที่ 4 โจนออฟอาร์กกู้เมืองออร์เลียงส์ ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/Lenepveu,_Jeanne_d'Arc_au_sians.jpg |
ภาพที่ 5 กองทัพอังกฤษและกองทัฟฝรั่งเศสกำลังทำสงครามกัน ที่มา http://pongsarinya.myreadyweb.com/article/topic-66441.html |
ผลของสงคราม
1. ฝรั่งเศสชนะสงคราม
2. อังกฤษเสียดินแดนในพื้นที่ของประเทศฝรั่งเศสทั้งหมดยกเว้น เมืองกาเล
3. กษัตริย์อังกฤษถูกจำกัดอำนาจในการปกครอง
4. การเริ่มต้นของระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศส
5. จุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศสในเวลาต่อมา
ภาพที่ 6 เมืองกาเล (calais) ประเทศฝรั่งเศส ที่มา https://www.budgetyourtrip.com/france/calais |
ผลกระทบของสงครามร้อยปี
ผลกระทบต่อประเทศอังกฤษ
1. กษัตริย์อังกฤษหันมาสนพระทัยกิจการภายในประเทศและการค้ากับดินแดนโพ้นทะเลมากขึ้น
2. รัฐสภาในอังกฤษได้มีอำนาจเพิ่มขึ้นในการต่อรองกับกษัตริย์ เนื่องจากสงครามทำให้รัฐบาลต้องการเงิน จึงมีการต่อรองเพื่อให้รัฐสภาผ่านความเห็นชอบงบประมาณที่ใช้ในการทำสงคราม ทำให้รัฐสภามีอำนาจมากขึ้น
3. เกิดชาตินิยมในหมู่ชาวอังกฤษจากชัยชนะของกองทัพอังกฤษ ในขณะเดียวกันกษัตริย์มีอำนาจเพิ่มมากขึ้นจากการสนับสนุนของชาวอังกฤษในการต่อต้านต่างชาติ
4. ขุนนางเสียชีวิตและยากจนลง ทำให้กษัตริย์อังกฤษสามารถรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางได้สำเร็จ
ผลกระทบต่อฝรั่งเศส
1. เป็นการส่งเสริมอำนาจเด็ดขาดให้แก่กษัตริย์ฝรั่งเศสในการปรับปรุงกองทัพเพื่อปราบปรามขุนนางและทำสงครามกับต่างชาติ
2. รัฐสภาได้ยอมรับอำนาจของสถาบันกษัตริย์ฝรั่งเศส ทำให้กษัตริย์มีอำนาจมากขึ้นจนพัฒนากลายเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเวลาต่อมา
3. การทำให้เกิดชาตินิยมในหมู่ของชาวฝรั่งเศส โดยเฉพาะแนวคิดความเป็นชาติเดียวกัน วีรกรรมของโจนออฟอาร์คกลายเป็นตำนานของชาวฝรั่งเศสมานานนับศตวรรษจนถึงปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุป สงครามร้อยปี (ค.ศ. 1337-1453) เป็นสงครามระหว่างประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้รูปแบบการเมืองและสังคมเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และยังเป็นต้นกำเนิดของความเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ โดยส่วนมากอังกฤษจะเป็นฝ่ายโจมตีฝรั่งเศส แต่ในที่สุดฝรั่งเศสก็สามารถรบชนะอังกฤษได้ และมีตำนานโจนออฟอาร์คซึ่งเป็นตำนานดังของฝรั่งเศสมานานนับศตวรรษจนถึงปัจจุบัน
บรรณานุกรม
ณรงค์ พ่วงพิศ, วุฒิชัย มูลศิลป์, สัญชัย สุวังบุตร, อนันต์ชัย เลาหะพันธุ์ และชาคริต ชุ่มวัฒนะ. (2555). หนังสือเรียน ประวัติศาสตร์ ม.3 (พิมพ์ครั้งที่ 30). กรุงเทพมหานคร : บริษัทอักษรเจริญทัศน์ อจท.
จำกัด.
ทสมล ชนาดิศัย. (2561). อัจฉริยะ 100 หน้า สงคราม (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร : บริษัทอัมรินทร์
พริ้นติ้งแอนด์พลิบบัชชิ่ง จำกัด (มหาชน).
ประสิทธิ์ เอื้อตระกูลวิทย์. (2558). หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ 4-6 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6
(พิมพ์ครั้งที่ 1). นนทบุรี : บริษัท สำนักพิมพ์เอมพันธ์ จำกัด.
ไพฑูรย์ มีกุล. (2552). หนังสือเรียน รายวิชาพื้นฐาน ประวัติศาสตร์ ม.4-6 เล่ม 2 (พิมพ์ครั้งที่ 1).
กรุงเทพมหานคร : บริษัท โรงพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัด.
สัญชัย สุวังบุตร, ชาคริต ชุ่มวัฒนะ, อนันต์ชัย เลาหะพันธุ์ และวุฒิชัย มูลศิลป์. (2558). หนังสือเรียน
ประวัติศาสตร์สากล ม.4-6 (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพมหานคร : บริษัทอักษรเจริญทัศน์ อจท. จำกัด.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น